ชื่อดุษฎีนิพนธ์ :
|
ชื่อดุษฎีนิพนธ์ :
การพัฒนารูปแบบการบริหารการศึกษาตามหลักพุทธบริหารการศึกษาของคณะสงฆ์มหายานในประเทศไทย
ชื่อผู้วิจัย :
พระมหาสุริยา คั้นพ๊าบ (แสงอินตา)
ปริญญา :
พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาพุทธบริหารการศึกษา)
คณะกรรมการควบคุมดุษฎีนิพนธ์
: รศ. ดร.สิน งามประโคน, พธ.บ. (การบริหารการศึกษา), M.A. (Educational Administration), Ph.D. (Educational Administration)
: พระมหาญาณวัฒน์ ฐิตวฑฺฒโน, ดร., ป.ธ. ๙, ศศ.ม. (นโยบายและการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม), พธ.ด. (พุทธบริหารการศึกษา)
วันสำเร็จการศึกษา :
๕/๐๒/๒๕๖๒
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้เพื่อสร้างการพัฒนารูปแบบการบริหารการศึกษาตามหลักพุทธบริหารการศึกษาของคณะสงฆ์มหายานในประเทศไทย โดยใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนาเริ่มศึกษาถึงสภาพปัจจุบันของการบริหารการศึกษาคณะสงฆ์มหายานจำนวน ๖ โรงเรียน โดยศึกษาสภาพความเป็นจริงที่มีอยู่ในปัจจุบัน ด้วยวิธีการสนทนากลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาในโรงเรียน เพื่อพัฒนาโรงเรียนให้ดีขึ้นด้วยการศึกษาเอกสาร ตำรา งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ด้วยการจัดสนทนากลุ่มรับรองรูปแบบของผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน ๑๑ รูป/คน ได้ผลการศึกษา ดังนี้
๑. สภาพการบริหารการศึกษาของคณะสงฆ์มหายานในประเทศไทย โรงเรียนได้แบ่งการบริหารงาน ๔ ฝ่าย พบว่า ๑) การบริหารงานฝ่ายวิชาการ ผู้บริหารต้องมีการปรับพื้นฐานการเรียน การสอน สำหรับผู้เรียนให้เหมาะสมและพัฒนาสื่อการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม และใช้สื่อให้ทันสมัย ๒) การบริหารงานงบประมาณ มีจำนวนจำกัดต้องอาศัยความร่วมมือกับผู้มีจิตศรัทธาและชุมชน ตลอดถึงเครือข่ายโรงเรียน ๓) การบริหารงานบุคคล โรงเรียนต้องพัฒนาครูผู้สอนเพื่อให้มีความพร้อมในการสอนและเพิ่มครูสอนให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ ๔) การบริหารงานทั่วไป ผู้บริหารได้มีการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ระหว่างบุคลากรและผู้เรียนเพื่อช่วยเหลือกัน
๒. การพัฒนารูปแบบการบริหารการศึกษาตามหลักพุทธบริหารการศึกษาของคณะสงฆ์มหายานในประเทศไทย มีการบริหารงาน ๔ ฝ่าย ตามหลักพุทธบริหารการศึกษา ประกอบด้วย ๑) หลักการ ๒) วัตถุประสงค์ ๓) กระบวนการดำเนินงาน ๔) หลักพุทธบริหารการศึกษาและ ๕) ประเมินผลโดยการบูรณาการหลักพุทธบริหารการศึกษา ดำเนินการได้ดังนี้ (๑) การบริหารฝ่ายวิชาการ ผู้บริหารใช้หลักธรรม โยนิโสมนสิการ, อิทธิบาท ๔ (๒) การบริหารฝ่ายงบประมาณใช้หลักกุศลมูล ๓, (๓) การบริหารงานฝ่ายบุคคลใช้หลักทศพิธราชธรรม, พรหมวิหารธรรม ๔ (๔) การบริหารงานฝ่ายทั่วไปใช้หลักธรรมกัลยาณมิตตตา, พละ ๕ และใช้กระบวนการการพัฒนาด้วยการส่งเสริมการศึกษาดูงานนอกสถานที่ อบรมและศึกษาต่อเพื่อพัฒนางานทุกด้านให้มีคุณภาพ
๓. รูปแบบการบริหารการศึกษาตามหลักพุทธบริหารการศึกษา ที่ได้รับการพิจารณารับรองจากการสนทนากลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว มีรูปแบบการบริหารการศึกษาประกอบด้วย หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการ หลักพุทธบริหารการศึกษา และประเมินผลโดยยึดรูปแบบการบริหารการศึกษาทั้ง ๔ ฝ่าย เพื่อดำเนินการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ตามหลักพุทธบริหารการศึกษาและวัฒนธรรมองค์การของโรงเรียนในคณะสงฆ์มหายานในประเทศไทยตามรูปแบบ Mahayana Buddhism Model ที่มีคุณภาพในบริบทของการบริหารจัดการการศึกษา