ประวัติความเป็นมาของ
โรงเรียนกุศลสมาครวิทยาลัย
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ สมัยที่ ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ดํารงตําแหน่งเป็น นายกรัฐมนตรี และมี ฯพณฯ ศาสตราจารย์มารุต บุนนาค เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ท่านรัฐมนตรีได้มอบหมายให้อาจารย์สมศักดิ์ สายหยุด อดีตผู้ช่วยผู้อํานวยการโรงเรียนมักกะสัน ซึ่งเป็นเลขานุการส่วนตัวในขณะนั้นดําเนินการจัดให้มีโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งเป็นปีมหามงคลเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ ๖๐ พรรษา คณะรัฐบาล พ่อค้า ประชาชนจึงได้จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติในโอกาสดังกล่าว เพื่อเป็นการถวายพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้มีการประสานงานกับคณะสงฆ์ทั้งฝ่ายเถรวาทและฝ่ายมหายาน โดยเฉพาะในเขตสัมพันธวงศ์ มีวัดที่เข้าร่วมในโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลหลายวัด เช่น วัดคณิกาผล วัดปทุมคงคา วัดชนะสงคราม และ วัดกุศลสมาคร เป็นต้น
วัดกุศลสมาครนับเป็นวัดอนัมนิกายวัดแรกที่ได้เข้าร่วมในโครงการนี้ โดยที่ อาจารย์ สมศักดิ์ สายหยุด ทําหน้าที่เป็นผู้ประสานงานในการดําเนินงานโครงการกับพระโกสินทร์ เลืองซัน เลขานุการเจ้าคณะใหญ่อนัมนิกายในสมัยนั้น โดยได้เสนอโครงการนี้ไปยังพระครูบริหารอนัมพรต (เจริญ กิ๊นเจี๊ยว) เจ้าอาวาสวัดกุศลสมาคร เจ้าคณะใหญ่อนัมนิกาย ซึ่งท่าน ก็อนุโมทนาพร้อมและให้การอุปถัมภ์สนับสนุนโครงการนี้ และรับเป็นประธานดําเนินงาน ฝ่ายสงฆ์ โดยมี ฯพณฯ ศาสตราจารย์มารุต บุนนาค เป็นประธานดําเนินงานฝ่ายคฤหัสถ์ ร่วมกับคณะกรรมการทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ ตลอดจนสาธุชนโดยทั่วไป
เนื่องจากเป็นปีแรกแห่งการจัดโครงการดังกล่าว คณะกรรมการจึงมีความประสงค์ ที่จะรับเยาวชนเข้าร่วมบรรพชาเป็นสามเณรเพียง ๖๑ รูป แต่มีเยาวชนที่มีจิตศรัทธาได้สมัครเข้าร่วมบรรพชาเป็นสามเณรจํานวนมากถึง ๘๔ รูป โดยได้จัดโครงการนี้ตั้งแต่วันที่ ๖ เมษายน ถึงวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นเวลา ๓๐ วัน โดย ฯพณฯ ศาสตราจารย์ มารุต บุนนาค ได้จัดสรรงบประมาณสําหรับใช้จ่ายในโครงการนี้จํานวน ๖๑,๐๐๐ บาท (หกหมื่นหนึ่งพันบาทถ้วน) ซึ่งการดําเนินงานในโครงการนี้ก็สําเร็จเรียบร้อยด้วยดี และเป็นผลให้มีการจัดโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนอย่างต่อเนื่องเป็นประเพณีมาจนถึงปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ภายหลังจากเสร็จสิ้นโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนใน ปีที่ ๒ ท่านพระครูบริหารอนัมพรต (เจริญ กิ๊นเจี๊ยว) เจ้าคณะใหญ่อนัมนิกาย ได้ปรารภกับอาจารย์สมศักดิ์ สายหยุด ว่า
“สามเณรที่ลาสิกขาไปแล้ว จะดําเนินชีวิตที่ดีในสังคมได้อย่างไร เพราะล้วนแต่เป็นเยาวชนที่ขาดแคลนปัจจัยสนับสนุนในการศึกษา หากไม่ได้รับการศึกษาที่ดีแล้ว ก็จะเป็น ปัญหาสังคม เป็นภาระของชาติอีก และถ้าสามเณรเหล่านี้ไม่ลาสิกขา แต่อยู่เพื่อศึกษาวิชา ความรู้ทางพระพุทธศาสนา นับว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการดํารงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาฝ่ายอนัมนิกาย ทําอย่างไรจึงจะวางรากฐานทางการศึกษาแก่สามเณรเหล่านี้ได้”
ท่านอาจารย์สมศักดิ์ สายหยุด จึงได้นําคำปรารภดังกล่าวไปปรึกษาหารือ กับ ฯพณฯ ศาสตราจารย์มารุต บุนนาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น และได้รับ คำแนะนําให้ไปปรึกษากับ ร้อยเอกอดุลย์ รัตตานนท์ ซึ่งดํารงตําแหน่งเป็นอธิบดีกรมการ ศาสนาในขณะนั้น และได้รับคําแนะนําให้ดําเนินการจัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนก สามัญศึกษาขึ้นที่วัดกุศลสมาคร ทั้งนี้เพื่อให้เป็นศาสนสถานทางการศึกษาอีกแห่งหนึ่งของ คณะสงฆ์อนัมนิกาย
ในการดําเนินงานเริ่มแรกนั้น มีพระครูบริหารอนัมพรต (เจริญ กิ๊นเจี๊ยว) เป็นประธานคณะกรรมการ เจ้าอาวาสวัดกุศลสมาคร เจ้าคณะใหญ่อนัมนิกาย บริหารโรงเรียน และมี ฯพณฯ ศาสตราจารย์มารุต บุนนาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น เป็น ประธานอุปถัมภ์และที่ปรึกษา มีอาจารย์สมศักดิ์ สายหยุด เป็นกรรมการและเลขานุการ และแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดําเนินงานอีกหลายท่าน พร้อมกับได้ทําเรื่องเสนอขอจัดตั้งโรงเรียนไปยังกรมการศาสนา เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๑
ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๒ กรมการศาสนาได้อนุมัติให้จัดตั้งโรงเรียนและเปิดดําเนินการจัดการเรียนการสอนได้ โดยใช้อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๔ ชั้น ในวัดกุศลสมาครเป็นสถานที่เรียน จึงถือเอาวันที่ ๒๐ มกราคมของทุกปีเป็นวันก่อตั้งโรงเรียนกุศลสมาคร วิทยาลัย ปัจจุบันได้ใช้อาคารเรียนหลังใหม่สูง ๗ ชั้น ซึ่งก่อสร้างสิ้นเงิน ๒๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท (ยี่สิบห้าล้านบาท) เป็นทั้งที่ทํางาน ที่พัก และที่เล่าเรียนของนักเรียน การจัดตั้งโรงเรียน ซึ่งต้องใช้เวลาเกือบ ๒ เดือนก็เนื่องจากกรมการศาสนาไม่อนุญาตให้ใช้ชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนกุศลสมาครวิทยาลัย” เพราะลงท้ายด้วยคำว่า “วิทยาลัย” กรมการศาสนาต้องการให้ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา วัดกุศลสมาคร” เหมือนกับโรงเรียนพระปริยัติธรรมทั่วไป
แต่ผู้ทําหน้าที่ประสานงานคือ องปลัดถนอม เถี่ยนถึก (อารีย์กุลชัย) เจ้าอาวาส วัดสุนทรประดิษฐ์ จังหวัดอุดรธานี ได้ให้เหตุผลโต้แย้งว่า “โรงเรียนอื่น ๆ ยังใช้คำว่า “วิทยาลัย” ต่อท้ายได้ เช่น โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย เป็นต้น ทําไม โรงเรียนกุศลสมาครจึงจะใช้คำว่า “วิทยาลัย” ต่อท้ายไม่ได้ ในที่สุดกรมการศาสนาจึงได้อนุมัติการจัดตั้งโรงเรียน โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โรงเรียนกุศลสมาครวิทยาลัย”
ผลสืบเนื่องในการเข้าร่วมโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนั้น กอปรกับปณิธานอันแน่วแน่ในการส่งเสริมสนับสนุนการศึกษา การสืบทอดพระพุทธศาสนา และเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีในอนาคตของเยาวชนผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา คณะสงฆ์อนัมนิกาย อันมีพระมหาคณานัมธรรมปัญญาธิวัตร (เจริญ กิ๊นเจี๊ยว) เป็นประธานดำเนินการ และมี ฯพณฯ ศาสตราจารย์มารุต บุนนาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานอุปถัมภ์ และมีอาจารย์สมศักดิ์ สายหยุด เป็นผู้ประสานงาน จึงทำให้เกิดการก่อตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาของคณะสงฆ์อนัมนิกายขึ้น
ปัจจุบันโรงเรียนกุศลสมาครวิทยาลัยทําหน้าที่ผลิตนักเรียนทั้งในระดับมัธยมศึกษา ตอนต้นและระดับการศึกษาตอนปลายปีละหลายร้อยรูป มีผู้จบการศึกษา ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศหลายสิบรูป เช่น มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น และศิษย์เก่าของโรงเรียนที่จบระดับอุดมศึกษาแล้วได้บวชเป็นศาสนทายาท ปฏิบัติหน้าที่สนองงานคณะสงฆ์อนัมนิกายในปัจจุบันอีกหลายรูปด้วยกัน
บุคลากรทั้งในส่วนผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และครูอาจารย์ของโรงเรียนกุศลสมาคร วิทยาลัยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เจ้าของโรงเรียนคือ พระมหาคณานัมธรรมปัญญาธิวัตร (เจริญ กิ๊นเจี๊ยว) ซึ่งสามเณรนักเรียนเรียกว่า “หลวงปู่” อาราธนาพระสงฆ์ทั้งในส่วนของ คณะสงฆ์อนัมนิกาย พระสงฆ์จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และพระสงฆ์ ที่จำพรรษาอยู่วัดละแวกใกล้เคียง เช่น วัดคณิกาผล วัดปทุมคงคา วัดไตรมิตรวิทยาราม วัดชนะสงคราม วัดจักรวรรดิราชาวาส วัดประยุรวงศาวาส เป็นต้น มาเป็นบุคลากรของ โรงเรียนกุศลสมาครวิทยาลัย
นอกจากนี้ยังได้เรียนเชิญครูอาจารย์จากโรงเรียนวัดไตรมิตรวิทยาลัย โรงเรียนวัด คณิกาผล โรงเรียนวัดราชบพิธ โรงเรียนฤทธิณรงค์รอน โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนบาลี เตรียม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นต้น มาเป็นอาจารย์พิเศษและช่วยงานด้านบริหารของโรงเรียนด้วย
ลำดับผู้บริหาร
นับแต่ก่อตั้งโรงเรียนกุศลสมาครวิทยาลัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ มีผู้บริหารที่ดำรง ตําแหน่งเจ้าของโรงเรียน ผู้จัดการ และผู้อำนวยการโดยลําดับดังนี้
๑. เจ้าของโรงเรียน
พ.ศ. ๒๕๓๒ - ๒๕๓๗ พระคณานัมธรรมวิธานาจารย์ (เจริญ กิ๊นเจี๊ยว)
พ.ศ. ๒๕๓๗ - ๒๕๔๒ พระคณานัมธรรมปัญญาธิวัตร (เจริญ กิ๊นเจี๊ยว)
พ.ศ. ๒๕๔๒ - ปัจจุบัน พระมหาคณานัมธรรมปัญญาธิวัตร (เจริญ กิ๊นเจี๊ยว)
๒. ผู้จัดการโรงเรียน
พ.ศ. ๒๕๓๒ - ๒๕๓๖ องพจนกรโกศล (บุญชู ติ่นทิน)
พ.ศ. ๒๕๓๖ - ๒๕๓๘ องอนันตสรภัญ (โกสินทร์ เลืองซัน)
พ.ศ. ๒๕๓๘ - ๒๕๔๐ พระอนัมพรตเมธาจารย์ (ถนอม เถี่ยนถึก)
พ.ศ. ๒๕๔๐ - ๒๕๔๕ องสรพจนสุนทร (ชาติชัย เหยี่ยวคัง)
พ.ศ. ๒๕๔๕ - ๒๕๔๘ พระมหาคณานัมธรรมปัญญาธิวัตร (เจริญ กิ๊นเจี๊ยว)
พ.ศ. ๒๕๔๘ - ปัจจุบัน องพจนกรโกศล (พิสิษฐ์ เถี่ยนบ๊าว ดร.)
๓. ผู้อำนวยการโรงเรียน
พ.ศ. ๒๕๓๒ - ๒๕๓๖ พระมหาอั้น ปญฺญาสิริ (ปัจจุบัน - พระสิรินันทมุนี)
พ.ศ. ๒๕๓๖ - ๒๕๔๒ พระครูวรกิจจาภรณ์ (ปัจจุบัน - พระราชวิริยสุนทร)
พ.ศ. ๒๕๔๗ - ๒๕๔๗ พระครูวินัยธรวิเชียร วชิรธมฺโม
พ.ศ. ๒๕๔๗ - ปัจจุบัน พระมหากิจการ โชติปญฺโญ (ปัจจุบัน - พระครูนันทกิตติคุณ,ดร.)
๔. อาจารย์อำนวยการและอาจารย์ที่ปรึกษา
พ.ศ. ๒๕๓๒ - ปัจจุบัน ดร.สมศักดิ์ สายหยุด
พ.ศ. ๒๕๔๕ - ปัจจุบัน ดร.กรแก้ว อัจนวัจน์